ทำความรู้จัก “ฟ้าทะลายโจร” และ “สรรพคุณฟ้าทะลายโจร” หนึ่งในสมุนไพรไทยที่นอกเหนือจากการช่วยร่วมรักษาผู้ป่วย “โควิด-19” ระยะเริ่มต้นแล้ว ยังมีสรรพคุณอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกดูแลสุขภาพและบรรเทาอาการป่วยต่างๆ ได้ไม่น้อย
“ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรกำลังถูกกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงนี้ หลังมีการทดลองและวิจัยพบว่า “สรรพคุณฟ้าทะลายโจร” สามารถรักษาโรค “โควิด-19” ระยะเริ่มต้นได้ เมื่อใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
หลายคนรู้จักฟ้าทะลายโจรจากคุณสมบัติเด่นนี้ ทว่า ฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณอื่นๆ ที่คนไทยใช้เป็นทางเลือกดูแลสุขภาพและบรรเทาอาการป่วยต่างๆ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงรวบรวมสรรพคุณทางยาของฟ้าทะลายโจร ในมิติอื่นๆ มาให้ดูกัน
- รู้จัก “ฟ้าทะลายโจร”
ฟ้าทะลายโจร มีชื่ออื่นๆ ที่ถูกเรียกต่างกันออกไป ทั้ง ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน
ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย “ฟ้าทะลายโจร” จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ เป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว
- “ฟ้าทะลายโจร” กับการรักษา “โควิด-19”
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า
“ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลด์ เป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอด โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิดในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐานในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19 ได้ แต่มีการศึกษาพบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดต่ำๆ (แอนโดรกราโฟไลด์ 11.2 มิลลิกรัม/วัน) กิน 5 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยป้องกันหวัดได้
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มียา หรือ วัคซีนใดที่จะตอบได้อย่างเต็มปากว่ารักษาหรือป้องกันได้จริง แต่จากการวิจัยเอกสารที่มีการทำการศึกษาวิจัยมากมายหลายฉบับทำให้เรามั่นใจว่า ฟ้าทะลายโจรมีประโยชน์ในการนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิดได้
และมีการส่งมอบเอกสารให้กับทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการระบาดระลอกแรก จนนำไปสู่การใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิดรายที่มีอาการน้อยและไม่มีอาการในโรงพยาบาลสังกัด กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพบว่า ผู้ที่มี “อาการน้อย” หลังจากได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นทุกราย โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด ส่วนในรายที่ไม่มีอาการ ก็ไม่พบว่ามีอาการภายหลังและปลอดภัยดี
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19 ได้ แต่มีการศึกษาพบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดต่ำๆ เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยป้องกันหวัดได้
- ฟ้าทะลายโจรกับโรคทั่วไป
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือมหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยแพทย์ทางเลือก ระบุว่า ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณเด่นคือ สามารถ “บรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอ” ได้
โดยมีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิก พบว่า “สมุนไพรฟ้าทะลายโจร” มีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี
ในปี พ.ศ.2555 ได้มีข้อมูลงานวิจัย จากผู้ป่วยจำนวน 807 คน พบว่าผลิตภัณฑ์สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ขนาดรับประทาน 31.5-200 มิลลิกรัม/วัน รับประทานเป็นเวลา 3-10 วัน มีผลช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากไข้หวัด (common cold) และอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ด้วย
คำแนะนำในการใช้ฟ้าทะลายโจร สำหรับ บรรเทาอาการเจ็บคอ หรือ บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ขนาดและวิธีใช้
รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
- ข้อห้ามใช้
– ห้ามใช้ ในผู้ที่มีอาการแพ้ ฟ้าทะลายโจร
– ห้ามใช้ ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูปได้
- คำเตือน
– หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง
– หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือ มีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ ยา ควรหยุดใช้ และพบแพทย์
– ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
– ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือดเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
– ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP1A2, CYP2C9 และCYP3A4
- อาการไม่พึงประสงค์
– อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้